รู้ไหมทำไมภาษาจีนถึงง่าย
ภาษาจีน ภาษาที่แค่เอ่ยว่าจะเรียน คนรอบข้างถึงกับสะดุ้ง “เอาจริงหรอ เรียนได้หรอ เรียนไปก็ไม่มีวันเก่ง ไม่มีทางพูดได้” …อืม มันยากขนาดนั้นเลยหรือ ไม่น่าเป็นไปได้นะ
ตอนที่ตัดสินใจเรียนภาษาจีน มีหลายคนบอกว่ามันยาก ไม่น่าจะเรียนได้ แต่ด้วยความที่ใจรักและชอบเรียนภาษาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถึงได้พยายามเรียนต่อไปแบบไม่แคร์เสียงคนรอบข้าง และเชื่อมั้ย แค่ 6 เดือน ก็ไปเที่ยวจีน ไปเรียนต่อ ไปใช้ชีวิตที่นั่นได้อย่างสบายๆ ถามว่าทำได้ยังไง ก็เพราะเหตุผลง่ายๆ 3 ข้อข้างล่างนี้
1. คำศัพท์ที่แสนจะสั้น
เพราะเป็นครูสอนภาษา จึงรู้ดีว่านักเรียนหวาดกลัวคำศัพท์ยาวๆ แค่ไหน แต่ข่าวดีก็คือคำศัพท์ภาษาจีนง่ายกว่านั้นมาก ลองเทียบจากภาษาอังกฤษดูให้เห็นกันชัดๆ
representative (5 พยางค์) 代表 (2 พยางค์) แปลว่า ตัวแทน
underestimate (5 พยางค์) 低估 (2 พยางค์) แปลว่า ประเมินค่าต่ำ
conversation (4พยางค์) 对话 (2 พยางค์) แปลว่า บทสนทนา
ยังมีศัพท์อีกมากมายที่เราจะได้เจอเมื่อเรียนไปเรื่อยๆ และขอการันตีเลยว่าส่วนใหญ่ไม่เกิน 1-3 พยางค์แน่นอน
แต่มีข้อด้อยเล็กน้อยที่จะไม่พูดถึงก็ไม่ได้ เพราะภาษาจีนไม่เหมือนภาษาญี่ปุ่นหรือเกาหลี ที่มีใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษอยู่บ้าง แต่ภาษาจีนไม่สนว่าคำนั้นจะมาจากภาษาไหน พี่จีนจับแปลเป็นชื่อภาษาจีนได้หมด อย่างเช่น KFC ก็เป็น 肯德基 / Starbucks ก็เป็น 星巴克 อย่า… อย่าเพิ่งตกใจ อยู่กับภาษาจีนไปเรื่อยๆ เราจะคุ้นชินกับมันเอง
ส่วนเรื่องของวรรณยุกต์ เนื่องจากคนไทยมีเสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง ภาษาจีนมี 4 เสียงกับเสียงเบา 1 เสียง ดังนั้นเรื่องออกเสียงเพี้ยนจึงไม่ค่อยเจอในคนไทยเท่าไหร่นัก
2. มีแบบแผนเป็นของตัวเอง
ภาษาจีนเป็นภาษาที่มีแบบแผนในตัวของมัน ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย นอกจากจะช่วยให้เราจำคำและโครงสร้างประโยคได้ง่ายแล้ว ลองสังเกตที่มาของคำก็ทำให้เราเพลิดเพลินได้เช่นกัน เช่น
สัตว์ 动物 -> 动 = เคลื่อนที่ 物 = สิ่งของ (สิ่งที่เคลื่อนที่ได้) ก็คือ สัตว์
อร่อย 好吃 -> 好 = ดี 吃 = กิน กินดี ก็คือ อร่อย
ผู้ใหญ่ 大人 -> 大 = ใหญ่ 人 = คน คนตัวใหญ่ ก็คือ ผู้ใหญ่
คอมพิวเตอร์ 电脑 -> 电 = ไฟฟ้า 脑 = สมอง สมองไฟฟ้า ก็คอมพิวเตอร์ นั่นเอง
ในภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ คำแต่ละคำนำมาแปลเดี่ยวๆ แบบนี้ไม่ได้นะ มันไม่มีความหมาย ดังนั้นคนเรียนภาษาจีนจึงได้เปรียบตรงที่คำ 1 คำสามารถแยกออกเป็นคำศัพท์เดี่ยวๆ และมีความหมาย ซึ่งเราใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการเดาความหมายของคำศัพท์ใหม่ได้นั่นเอง ตัวอย่างเช่น เราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเจอคำว่า 好人 ทีนี้สมมติเรารู้ว่า 好 แปลว่า ดี และ 人 แปลว่า คน เราก็เดาความหมายของ 好人 ได้แล้ว จริงมั้ยคะ (แปลว่า คนดี)
3. แกรมม่าที่ง่ายสุดในสามโลก
เอาเป็นว่าไม่ต้องอธิบายหรอก มาดูตัวอย่างกันเลย
你是老师。 คุณเป็นคุณครู
他是老师。 เขาเป็นคุณครู
你是老师吗? คุณเป็นคุณครูใช่ไหม
他是老师吗? เขาเป็นคุณครูใช่ไหม
他不是老师吗? เขาไม่ใช่คุณครูหรือ
你是我的老师。 คุณเป็นคุณครูของฉัน
Verb to be: is am are…มีแต่ครูสอนภาษาเท่านั้นที่รู้ดีว่าเรื่องพวกนี้ทำให้นักเรียนปวดหัวแค่ไหน แต่แกรมม่าภาษาจีนนั้น “เข้าใจง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา” การสร้างประโยคจึงไม่ต่างจากการนำโดมิโนมาเรียงต่อกัน เพศก็ไม่มี พหูพจน์เอกพจน์ก็ไม่ต้อง สังเกตกริยา 是 ดูสิ ไม่ว่าจะอยู่ในประโยคไหนก็เขียนเหมือนเดิม ไม่ผันตามประธานหรือกาลเวลา แน่นอนว่าถ้าเราเรียนภาษาจีนในระดับที่สูงขึ้น โครงสร้างก็อาจจะยากขึ้น แต่การันตีได้เลยว่าง่ายกว่าภาษาอื่นๆ เยอะ
สุดท้ายนี้ แทนที่จะมัวเสียเวลามานั่งอ่านหนังสือแกรมม่า สิ่งที่เราควรทำก็คือฝึกฟังและพูดให้เยอะๆ ดีกว่า ดูรายการทีวีของจีน ฟังวิทยุจีน ถึงจะฟังไม่รู้เรื่องทั้งหมด แต่ลองสังเกตรูปประโยคจากแกรมม่าที่เราเรียน แล้วเราจะรู้ว่า ภาษาจีนไม่ได้ยากอย่างที่คิด มาเรียนภาษาจีนกันเถอะ 加油!